นกเงือกหัวหงอก/White-crowned Hornbill (Berenicornis comatus)

สิ่งที่น่าสนใจ :

ทั้งตัวผู้และตัวเมียบริเวณหัวมีขนยาวเป็นพุ่มสีขาวลักษณะคล้ายหงอน ปากสีดำ โหนกแข็งขนาดเล็ก หางยาวสีขาว มีแถบสีขาวบริเวณขอบปีกจะเห็นได้ชัดในขณะนกกางปีกหรือบิน บรอเวณคอและด้านล่างลำตัวาีขาวในตัวผู้ แต่ในตัวเมียบริเวณดังกล่าวเป็นสีดำ ตัวที่ยังไม่เต็มวัยลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่สีสันของลำตัวจะเป็นสีน้ำตาล หางสีดำ ปลายปีกมีแถบกว้างสีขาว ปลายขนคลุมโคนปีกสีขาว

ถิ่นอาศัย :

พบในทวีปเอเชียแถบสุมาตรา บอร์เนียว มาเลเซีย เวียดนาม เทือกเขาตะนาวศรี สำหรับในประเทศไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ และบางแห่งของภาคตะวันตก เช่นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบตามป่าดงดิบชื้น ตั้งแต่ระดับเชิงเขาจนกระทั่งความสูง 600 เมตร หรือมากกว่า

อาหาร :

อาหารได้แก่ สัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดเล็ก เช่น งู จิ้งเหลน กิ้งก่า รวมถึงผลไม้ชนิดต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะลูกไทร ลูกหว้า และลูกตาเสือ

พฤติกรรม :

ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์จะพบเป็นฝูงเล็ก ๆ บินเกือบจะไม่มีเสียง อันเนื่องมาจากการกระพืบปีกค่อนข้างเร็วติดต่อกัน ร้องเป็นเสียงเบา โดยออกเป็นเสียง ฮู ร้องในขณะบิน และจะร้องเป็นเสียงเดียวกันนี้แต่ซ้ำ ๆ กันประมาณ 10 - 12 ครั้งในขณะกินอาหาร

สถานภาพปัจจุบัน :

ปัจจุบันมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562

วัยเจริญพันธุ์ :

พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของนกเงือกหัวหงอก เป็นลักษณะเดียวกับนกเงือกชนิดอื่น โดยตลอดชีวิตจะไม่มีการเปลี่ยนคู่เลย ตัวเมียจะวางไข่ในโพรงไม้ ตัวผู้เป็นฝ่ายหาอาหารมาป้อนแม่นกและลูกนก ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน หรือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ทำรังตามโพรงของต้นไม้

ขนาดและน้ำหนัก :

นกเงือกหัวหงอกมีขนาดความยาวลำตัว ประมาณ 90 เซนติเมตร

ข้อมูลอ้างอิง :

รายละเอียดเพิ่มเติม

สถานที่ชม :


แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560