กวางป่าเป็นสัตว์จำพวกกวางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กวางป่าเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย ขนของกวางป่าจะหยาบแข็ง และไม่ขึ้นถี่อย่างขนเก้ง ขนมีสีเทาน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน สีไม่ฉูดฉาดอย่างสีขนกวางดาวและเก้ง ขนตามตัวยาวประมาณ 2 - 4 เซนติเมตร ขนรอบคอของกวางป่าเพศผู้ค่อนข้างยาว คือยาวประมาณ 7 - 10 เซนติเมตร ขนบริเวณท้องและก้นขึ้นห่างกว่าบริเวณอื่นและสีขนอ่อนกว่าบนหลัง หางเป็นพวงค่อนข้างสั้น มีแอ่งน้ำตาขนาดใหญ่ที่หัวตาข้างละแห่ง
พบการกระจายพันธุ์ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย เนปาล ศรีลังกา กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดจีน และบริเวณจีนตอนใต้ สำหรับประเทศไทย พบตามป่าดงดิบทั่วไปทุกภาคทั้งป่าสูงและป่าต่ำ
ชอบกินใบไม้ และยอดอ่อนของพืชมากกว่าหญ้า อาหารในธรรมชาติของกวางได้แก่ เถาวัลย์อ่อน ๆ ยอดอ่อนของไม้พุ่มเตี้ย ๆ ใบไม้ใบหญ้าที่เพิ่งผลิใบ ใบไผ่ และชอบกินดินโป่งมาก
ออกหากินตั้งแต่ตอนเย็นถึงเช้าตรู่ ส่วนกลางวันจะนอนในที่รกทึบ ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทั่วไปรวมทั้งป่าทึบ ชอบออกมาหากินอยู่ตามริมทาง ลำธาร และทุ่งโล่ง ชอบนอนแช่ปลักโคลนเหมือนกระบือเพื่อป้องกันแมลง ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะดุร้ายและหวงตัวเมียมาก ช่วงนี้ตัวผู้จะต่อสู้กันอย่างดุร้ายเพื่อแย่งตัวเมีย ว่ายน้ำเก่งและปราดเปรียว
1. เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย 2. สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์(IUCN) จัดให้กวางป่าอยู่ในระดับ เสี่ยงสูญพันธุ์ (VU)
เป็นสัตว์ที่มีความแตกต่างในรายละเอียดของลักษณะและขนาด แต่มีข้อสรุปในประเด็นขนาด น้ำหนักอยู่ในช่วง 100 - 350 กิโลกรัม ความยาวของหัวและลำตัว 1.62 - 2.7 เมตร และชนิดย่อยในฝั่งอินเดียใต้จะใหญ่กว่าฝั่งเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้
CLASS : Mammalia
ORDER : Cetartiodactyla
FAMILY : Cervidae
GENUS : Rusa
SPECIES : Sambar Deer (Rusa unicolor)
สถานะภาพทางการอนุรักษ์ : สัตว์ป่าคุ้มครอง และ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ตั้งท้องนานประมาณ 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัวในช่วงต้นฤดูฝน ลูกกวางจะเริ่มแยกจากแม่ไปหากินตามลำพังเมื่ออายุราว 1 ปีหรือ 1 ปีกว่า และโตกวางป่าพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 18 เดือน อายุยืนประมาณ 15-20 ปี
ขนาดวัดจากปลายจมูกถึงโคนหาง 180 - 200 เซนติเมตร ความสูงวัดถึงหัวไหล่ 140 - 160 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 184 - 260 กิโลกรัม
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560