ตะโขง/False Gharial (Tomistoma schlegelii)

สิ่งที่น่าสนใจ :

ตะโขง เป็นจระเข้ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะจำเพาะคือ ที่ส่วนปลายปากที่ยื่นยาว และมีฟันที่แหลมคมประมาณ 76 - 84 ซี่ ลำตัวเรียวยาว หางยาวและส่วนโคนหางเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่และแข็งแรง ตาและจมูกอยู่ด้านบนของหัว สีเกล็ดของตัวเต็มวัยและลูกจระเข้จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนลำตัวและหางจะมีแถบสีดำ ลูกตะโขงส่วนขากรรไกรมีแต้มวงกลมสีดำเกล็ดท้องสีเทาหรือขาว ตัวเต็มวัยเพศผู้ยาวและหนักกว่าเพศเมีย

ถิ่นอาศัย :

ตะโขงมีการกระจายพันธุ์ในแหลมมาลายู เกาะซาราวัค อินโดนีเซียในเกาะสุมาตราและบอร์เนียว พบในแหล่งน้ำในป่าพรุ (บริเวณที่ลุ่มมีน้ำแช่ขังติดต่อกันเป็นเวลานานมีพันธุ์ไม้เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี และมีแอ่งน้ำที่มีการสะสมของเศษซากอินทรียวัตถุ) ป่าบุง ป่าทาม (ป่าที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำและลำห้วยสาขาที่มีนำ้ท่วมในฤดูฝน)

อาหาร :

ในอดีตข้อมูลอาหารของตะโขงจะเป็นปลาและสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก แต่ข้อมูลในปัจจุบันจะพบว่าชนิดสัตว์จะหลากหลายมากขึ้น ถึงแม้ว่าตะโขงเป็นสัตว์ทีมีส่วนปลายปากเรียวยาว โดยนอกจากปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยตะโขงที่ถึงช่วงอายุโตเต็มวัยจะกินสัตว์มีกระดูกสัตว์หลังที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ลิงจมูกยาว ลิงแสม กวาง นกน้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน

พฤติกรรม :

ตะโขงจะใช้เวลาส่วนใหญ่ อยู่ใต้น้ำในน้ำตื้น โดยส่วนตาและจมูกจะโผล่เหนือผิวน้ำขึ้นมา โดยที่ตะโขงสามารถอยู่ใต้น้ำได้เป็นระยะเวลายาวนาน ในสภาวะปกติจะอยู่ใต้น้ำและสลับขึ้นมาเหนือผิวน้ำทุก 10 - 15 นาที ในช่วงเวลาที่จระเข้รู้สึกถูกคุกคามจะสามารถอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 2 ชั่วโมง โดยตะโขงจะลดอัตราการเผาผลาญพลังงานและลดการใช้ออกซิเจน การขึ้นมารับแดดเพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ จะสังเกตเห็นได้น้อยเมื่อเทียบกับจระเข้ชนิดอื่น

สถานภาพปัจจุบัน :

1. ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงการสูญพันธุ์ (Vulnerable; VU) ตามบัญชีแดงของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ 2. เป็นชนิดพันธุ์ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีสัตว์หมายเลข 1 ของอนุสัญญาการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ (CITES)

อนุกรมวิธาน

CLASS : Reptilia

ORDER : Crocodylia

FAMILY : Crocodylidae

GENUS : Tomistoma

SPECIES : False Gharial (Tomistoma schlegelii)

วัยเจริญพันธุ์ :

แม่ตะโขงจะมีการสร้างรังแบบเนินจากพืชน้ำและโคลน วางไข่จำนวน 13 - 35 ฟอง และไข่ของตะโขงมีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มจระเข้ ตะโขงเพศเมียที่ถึงช่วงอายุสมบูรณ์พันธุ์ จะมีขนาดความยาวรวม 2.5 - 3 เมตรซึ่งจะถือว่ามีขนาดร่างกายใหญ่เมื่อเทียบกับเพศเมียในจระเข้ชนิดอื่นๆ เมื่อแม่ตะโขงสร้างรังและวางไข่เสร็จ แม่ตะโขงจะไม่มีการเฝ้าไข่เหมือนกับจระเข้ชนิดอื่น ทำให้ลูกตะโขงจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกกินด้วยสัตว์ผู้ล่าเช่น พังพอน เสือโคร่ง เสือดาว หมูป่า

ขนาดและน้ำหนัก :

ข้อมูลจากตะโขงเพศผู้ช่วงอายุโตเต็มวัย จำนวน 3 ตัว วัดความยาวรวมจากปลายจมูกถึงปลายหางยาวรวม 3.6 - 3.9 เมตร น้ำหนัก 190 - 210 กิโลกรัม และข้อมูลจากตะโขงเพศเมีย ความยาวรวม 3.27 เมตรและน้ำหนัก 93 กิโลกรัม

ข้อมูลอ้างอิง :

รายละเอียดเพิ่มเติม

สถานที่ชม :


แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560