เป็นสัตว์กีบเท้าคู่ขนาดใหญ่ มีโหนกกลางหลังหนึ่งโหนก มีสายตาและการดมกลิ่นที่ดี ลักษณะที่แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นเช่น คอยาวโค้ง หน้าอกแคบ มีขนตาสองชั้นและมีขนตาหนา ดวงตามีขนาดใหญ่และจะถูกปกป้องด้วยสันเหนือเบ้าตา หูเล็กและกลม โหนกสูงอย่างน้อย 20 เซนติเมตร ขนจะยาวที่บริเวณหน้าอก หัวไหล่และโหนก อูฐตัวผู้จะมีเพดานของช่องปากที่อ่อนและยาวประมาณ 18 เซนติเมตรที่เรียกว่าดูลา ( dulla ) ที่สามารถเป่าลมให้เป็นถุงสีชมพูได้ จะมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นลิ้น ถุงดูลาสีชมพูจะห้อยที่มุมปากข้างใดข้างหนึ่ง ที่มักจะเห็นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ที่มีประโยชน์ในการดึงดูดความสนใจอูฐตัวเมีย สีขนส่วนใหญ่เป็นสีน้ำตาล แต่สีขนจะมีตั้งแต่สีดำจนถึงเกือบขาว ขนบนลำตัวจะยาวและขึ้นแน่นบริเวณหน้าอก หัวไหล่และโหนก มีขาที่ยาวและแข็งแรงโดยเท้าประกอบด้วย 2 นิ้วที่ส่วนฝ่าเท้าจะแบนและเป็นแผ่นหนังหนา เนื่องจากมีขาที่ยาวลักษณะการเดินจะเหมือนกับยีราฟคือขาข้างเดียวกันจะเดินไปพร้อมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับอูฐสองโหนกแล้ว อูฐโหนเดียวจะมีขนที่สั้นกว่า ร่างกายที่เล็กและบางกว่า แต่จะมีขาที่ยาวกว่า เมื่อเทียบกับลามาแล้วอูฐโหนกเดียวหางจะยาวกว่า ใบหูเล็กกว่า ฝ่าเท้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมและความสูงช่วงไหล่ที่มากกว่า
อูฐโหนกเดียวป่าได้หมดไปจากพื้นที่ธรรมชาติประมาณ 2000 ปี คาดว่าพื้นที่ที่เริ่มมีการนำมาใช้เป็นสัตว์ปศุสัตว์ที่คาบสมุทรอาหรับเมื่อประมาณ 4000 ปี หรืออีกหลักฐานจากภาพวาดในถ้ำลาสกาล (Laas Geel) ในประเทศโซมาเลียซึ่งภาพวาดมีอายุประมาณ 5,000 – 9,000 ปีก่อนศริตศักราช ซึ่งอูฐโหนกเดียวป่าเคยมีการกระจายพันธุ์พื้นที่แห้งแล้ง เช่น ทะเลทรายซาฮาร่า โดยที่อูฐโหนกเดียวบ้านจะมีการเลี้ยงในพื้นที่กึ่งแห้งแล้งไปจนถึงแห้งแล้งในเอเชียและแอฟริกา โดยมีการเลี้ยงจำนวนมากในทวีปแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับ มีอูฐโหนกเดียวบ้านที่อยู่แบบอิสระในทวีปออสเตรเลีย ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากอูฐโหนกเดียวคือ เนื้อ นมซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มชนพื้นเมืองในแอฟริกาเหนือ รวมทั้งมีการนำไปใช้ประโยชน์เป็นสัตว์ขนสัมภาระและเดินทาง
อาหารของอูฐประกอบด้วยใบพืช หญ้าแห้งและพืชทะเลทราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตะบองเพชร เมื่อลงรายละเอียดจะเป็นหญ้าร้อยละ11.2 ใบพืชจากต้นไม้ 29.9 ใบพืชจากไม้พุ่มเตี้ยร้อยละ 47. อาหารหลักของอูฐโหนกเดียวจะเป็นใบพืชล้มลุกและไม้พุ่ม โดยในฤดูร้อนจะมีสัดส่วนร้อยละ 70 และในฤดูหนาวจะมีสัดส่วนร้อยละ 90 รวมทั้งหญ้าต้นสูง อูฐโหนกเดียวจะใช้ริมฝีปากช่วยในการจับดึงตะบองเพชร จะอ้าปากในช่วงที่กำลังเคี้ยวตะบองเพชร ในการจับเอาอาหารเข้าปากหนึ่งครั้งอูฐจะเคี้ยวอาหาร 40-50 ครั้ง จะใช้เวลาในการเดินหาอาหารและกินอาหาร 8-12 ชั่วโมงต่อวัน และการเคี้ยวเอื้องก็จะใช้เวลาใกล้เคียงกัน ภายในช่องปากจะมีปุ่มแข็งรูปสามเหลี่ยมซึ่งเป็นสารเคอราติน ซึ่งจะช่วยปกป้องเมื่ออูฐจะเคี้ยวตะบองเพชร ที่มีหนามแหลม ซึ่งสัตว์ชนิดอื่นกินไม่ได้ รวมทั้งการที่อูฐมีขายาวและคอยาวจะทำให้การใช้ปากจับงับอาหารที่สูงถึงประมาณ 3.4 เมตรได้ อูฐต้องการเกลือเป็นส่วนประกอบอาหาร พืชที่ขึ้นในดินที่มีเกลือสูงหรือในทะเลสาบที่มีปริมาณเกลือสูงจึงเป็นอาหารปกติของอูฐ อูฐเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีกระเพาะอาหาร 4 ส่วน อูฐจะไม่เคี้ยวพืชอาหารจนละเอียดแต่เคี้ยวพอที่จะกลืนลงกระเพาะได้ และจะมีการขยอกเอาพืชอาหารที่กลืนลงไปกลับมาเคี้ยวใหม่
อูฐโหนกเดียวจะมีกิจกรรมต่างๆในช่วงเวลากลางวัน ฝูงของอูฐจะออกหากินอาหารตลอดทั้งวัน โดยจะพักในช่วงที่อากาศร้อนในช่วงบ่าย และช่วงกลางคืนเป็นช่วงเวลาพัก ฝูงของอูฐโหนกเดียวเป็นฝูงที่มีความเชื่อมโยงกันประกอบด้วยสมาชิก 20 ตัว ซึ่งประกอบด้วยตัวเมียหลายตัว และตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูง 1 ตัว อูฐโหนกเดียวตัวเมีย 3-4 จะผลัดกันนำฝูง ตัวผู้ช่วงอายุวัยหนุ่มและตัวเต็มวัยแล้วจะรวมกลุ่มกันหรืออยู่ตัวเดียว ฝูงหลายฝูงอาจจะมารวมกันในช่วงที่เป็นจำนวนหลายร้อยตัวในช่วงที่มีการเคลื่อนที่ย้ายถิ่นในช่วงเวลาที่มีภัยธรรมชาติ โดยปกติอูฐไม่ใช้สัตว์ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ยกเว้นตัวผู้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวเมียจะมีความจำสถานที่ตกลูก สถานที่ที่ให้ลูกกินนม
แอฟริกา : ประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ของอูฐโหนกเดียวกระจายตัวอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะพื้นที่แห้งแล้งบริเวณตอนเหนือ กลุ่มประเทศที่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า จะงอยของทวีปแอฟริกาจะเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนอูฐมากถึงร้อยละ 35 ของโลก โดยประชากรมากที่สุดในโซมาเลีย ตามด้วยซูดาน เอริเทรีย และเอธิโอเปีย จากข้อมูลเอกสารจัดทำประจำปีขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าประชากรอูฐโหนกเดียวในแอฟริกาตะวันออกมีประมาณ 10 ล้านตัว แอฟริกาตะวันตก 2.14 ล้านตัว เอเชีย : ในทวีปเอเชีย ประชากรอูฐโหนกเดียวเกือบร้อยละ 70 อยู่ในอินเดียและปากีสถาน และในช่วงปี 2537 ถึง 2547 ทั้งอูฐโหนกเดียวและสองโหนกมีจำนวนประชากรลดลงประมาณร้อยละ 21 อูฐที่อยู่แบบอิสระไม่มีมนุษย์ควบคุมในประเทศออสเตรเลีย โดยเริ่มจากการนำอูฐจากอินเดียและอัฟกานิสถาน ในช่วงศตวรรษที่ 19 ( พศ. 2343 – 2443 ) เพื่อใช้ในงานก่อสร้างและการเดินทางในบริเวณพื้นที่ออสเตรเลียกลางและตะวันตก ต่อมามีการนำรถยนต์มาใช้แทน ทำให้อูฐโหนกเดียวจำนวนมากถูกปล่อยเข้าป่าในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ( พศ. 2443-2543) ซึ่งหลังจากนั้นอูฐเหล่านี้มีการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี 2553 จำนวนประชากรเพิ่มเป็นประมาณหนึ่งล้านตัว และจำนวนจะเพิ่มเป็นเท่าตัวใน 8 - 10 ปี รวมทั้งอูฐโหนกเดียวยังทำลายสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน
CLASS : Mammalia
ORDER : Artiodactyla
FAMILY : Camelidae
GENUS : Camelus
SPECIES : Camelus dromedarius
วัยสมบูรณ์พันธุ์ของพ่อและแม่พันธุ์อูฐจะยาวนานจนถึงช่วงอายุประมาณ 20 ปี อายุขัยของอูฐที่ 40 ปี
ฝูงของอูฐโหนกเดียวจะเป็นฝูงของตัวเมียและมีจ่าฝูงตัวผู้หนึ่งตัว ตัวเมียจะเริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุได้ 3-4 ปี ตัวผู้จะถึงช่วงอายุที่ผลิตน้ำเชื้อได้แข็งแรงสมบูรณ์ที่อายุ 3 ปี แต่ช่วงอายุที่สภาพร่างกายแข็งแรงและทักษะในการต่อสู้ที่มากพอจะอยู่ในช่วงอายุ 6-8 ปี อูฐตัวผู้จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวในช่วงฤดูผสมพันธุ์ โดยมีงานวิจัยที่แสดงว่าฮอร์โมนแอนโดรเจนในกระแสเลือดสูงขึ้น โดยฤดูผสมพันธุ์จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน มีผลให้การควบคุมอูฐตัวผู้ยากยิ่งขึ้น เห็นถุงสีชมพูดูลาที่เป็นส่วนหนึ่งของเพดานปาก มีการส่งเสียงทุ้มต่ำจากลำคอ มีการถ่ายปัสสาวะรดหางและใช้หางแกว่งมาด้านบน ปัสสาวะจะมาแห้งสะสมบริเวณกลางหลัง ตัวผู้ที่คุมฝูงจะกันไม่ให้ตัวเมียที่อยู่ในฝูงของตัวมีปฏิสัมพันธ์กับตัวผู้ที่อยู่นอกฝูง ด้วยการยืนกันไว้ เดินกันไปมา และพยายามไล่ตัวผู้กลุ่มนี้ออกไป การต่อสู้ระหว่างตัวผู้เพื่อแย่งชิงฝูงตัวเมีย การต่อสู้จะเป็นลักษณะวิ่งวนและก้มตัวต่ำลงเพื่อที่จะใช้ปากและฟันกัดที่ขาหรือหัว รวมทั้งพยายามที่จะทำให้คู่ต่อสู้ล้ม ก่อนการผสมพันธุ์จะมีพฤติกรรมโดยตัวผู้ดมอวัยวะเพศตัวเมีย กัดตัวเมียตามส่วนต่างๆ หรือบริเวณสะโพก จากนั้นตัวผู้จะบังคับให้ตัวเมียนั่ง แล้วตัวผู้จะยึดตัวเมียไว้ด้วยขาหน้า ตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูงจะผสมกับตัวเมียที่อยู่ในช่วงสมบูรณ์พันธุ์ทุกตัวในฝูง และตัวเมียมีช่วงการตั้งท้อง 13-14 เดือน ลูกที่เกิดใหม่อาจมีน้ำหนักได้มากถึง 37 กิโลกรัมและมักจะเกิดในช่วงฤดูฝน แม่อูฐโหนกเดียวจะเลี้ยงลูกนาน 9-11 เดือน และลูกจะกินนมแม่นาน 12-18 เดือน
เป็นอูฐโหนกเดียวเป็นอูฐที่มีขนาดร่างกายสูงที่สุดในบรรดาอูฐ 3 ชนิดคือ อูฐสองโหนกและอูฐสองโหนกป่า โดยตัวผู้ความสูงช่วงไหล่อยู่ในช่วง 1.8-2.4 เมตร ส่วนตัวเมียอยู่ในช่วง 1.7-1.9 เมตร น้ำหนักตัวผู้อยู่ในช่วง 400-690 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียอยู่ในช่วง 300-540 กิโลกรัม
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 06 เมษายน 2560